พืชที่ปลูกโดยไม่ใช้ดิน กับพืชที่ปลูกตามธรรมชาติมีความเหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไร



  • พืชเป็นแหล่งพลังงานใหญ่มากของโลก และยังเป็นแหล่งที่สร้างออกซิเจนเพื่อการหายใจของสิ่งมีชีวิตทุกชนิด มนุษย์ไม่สามารถมีชีวิตอยู่โดยปราศจากพืช พืชเป็นผู้สร้างอาหารเริ่มต้นทั้งหมดของมนุษย์ โดยรากพืชทำหน้าที่ดูดน้ำและธาตุอาหารที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโตจากดิน ส่งไปยังใบเพื่อสังเคราะห์แสง โดยใบจะเป็นตัวจับพลังงานจากแสงอาทิตย์ เปลี่ยนน้ำและคาร์บอนไดออกไซด์ เป็นสารที่ให้พลังงาน คือคาร์โบไฮเดรตและออกซิเจน
  • ในขณะเดียวกัน พืชยังเป็นสิ่งมีชีวิตที่ต้องการออกซิเจนเพื่อการหายใจ โดยขบวนการการหายใจของพืชสามารถเกิดได้ทุกส่วน ทั้งในรากและยอด ขบวนการหายใจเป็นกระบวนการเผาผลาญอาหาร เพื่อให้เกิดพลังงาน นำไปใช้และเพื่อการเจริญเติบโต
  • การผลิตพืชเพื่อให้ผลผลิตสูงคือต้องพยายามให้พืชมีการสร้างอาหารให้มากที่สุด ( สังเคราะห์แสง ) และใช้ให้น้อยที่สุด ( หายใจ )



ความหมายของการปลูกพืชโดยไม่ใช้ดิน 

  • วิธีการปลูกพืชเพื่อให้พืชได้รับสารอาหาร หรือสารละลายธาตุอาหารพืช ที่มีน้ำผสมกับธาตุอาหารที่พืชต้องการจากทางรากพืช
  • โดยพืชที่ปลูกนั้นจะปลูกลงบนวัสดุปลูก หรือโดยไม่ต้องมีวัสดุปลูกก็ได้

ในช่วงวัยและชีวิตคนเรามีกิจกรรมอะไรมากมายและยังมีหน้าที่ ความรับผิดชอบ ความสนใจที่แตกต่างกันไป ดังนั้นเราจึงมีความต้องการการดูแลสุขภาพที่แตกต่างกันด้วย      และการที่เราจะใส่ใจกับสุขภาพทุกช่วงวัยก็คงจะหนีไม่พ้น     การรับประทานสิ่งที่ดีมีคุณภาพ     และโดยเฉพาะอย่างยิ่งการรับประทานผัก ซึ่งมีคุณประโยชน์มากมายต่อสุขภาพ ช่วยป้องกันโรคร้ายต่างๆ และยังช่วยขับของเสียในร่างกาย

ในการรับประทานของที่มีประโยชน์ ก็ต้องคำนึงถึงวิธีการ การดูแล และการจัดการของผู้ผลิต ว่าได้ผลิตของดีมีคุณภาพ ปลอดภัยจากสารพิษที่มากับผลผลิตหรือไม่   เนื่องจากพืชเป็นดังผู้ผลิตอาหารระดับต้นๆ ของห่วงโซอาหาร พืชจึงมีลักษณะของการดูดซับสิ่งต่าง ทั้งประโยชน์และโทษ ในการพัฒนาการ และในการดำรงชีวิตเหมือนธรรมชาติทั่วๆไป เพื่อการเจริญเติบโต

และในปัจจุบัน การใช้สารเคมีเพื่อฆ่าและกำจัดโรคแมลง ที่เข้าระบาดทำลายพืชผักมีมาก เราแทบจะกำหนดการป้องกันล่วงหน้าไม่ได้ เนื่องจากสภาพแวดล้อมที่แปรปรวน เพื่อการปรับสมดุลของธรรมชาติเอง การเจริญของเชื้อโรคและแมลงก็มีมากขึ้นตาม มิหนำซ้ำสารพิษที่ตกค้างในดินที่สะสมยังไม่สลาย พืชก็ยังดูดซับสารพิษเหล่านั้นมาด้วย


ในบทความนี้ขอกล่าวถึงการปลูกพืชแบบไร้ดิน หรือที่เราเรียกว่า การปลูกผักแบบ Hydroponics ซึ่งเป็นอีกทางเลือกหนึ่งสำหรับผู้บริโภคที่รักสุขภาพ มีคำถามมากมายเกี่ยวกับการปลูกพืชแบบไร้ดิน หรือ Hydroponics เช่น
  • การปลูกพืชโดยไม่ใช้ดินเป็นการ ปลูกพืชแบบธรรมชาติหรือไม่
  • พืชที่ปลูกโดยไม่ใช้ดินกินสารเคมีหรือไม่ และเป็นพิษหรือไม่ 
  • พืชที่ปลูกโดยไม่ใช้ดินมีสารอาหารครบถ้วนหรือไม่
  • พืชที่ปลูกโดยไม่ใช้ดินมีไนเตรตค้างหรือไม่ 

การปลูกพืชโดยไม่ใช้ดินเป็นการ ปลูกพืชแบบธรรมชาติหรือไม่ 

         เกษตรอินทรีย์ที่ถือว่าเป็นธรรมชาติที่สุดนั้น จะใช้ปุ๋ยอินทรีย์ที่เป็นพืชนำมาหมัก และมูลสัตว์เป็นหลัก ส่วนการปลูกพืชโดยไม่ใช้ดินโดยเฉพาะการปลูกด้วยระบบ Hydroponics นั้นจะใช้ปุ๋ย อนินทรีย์ ที่เป็นเกลือแร่ค่อนข้างบริสุทธิ์เป็นหลัก  ซึ่งถ้ามองอย่างผิวเผิน จะคิดว่าการปลูกพืชทั้งสองวิธีมีความแตกต่างกันมาก และอาจถึงขั้นมองว่า ระบบ Hydroponics ไม่เป็นการปลูกพืชแบบธรรมชาติ แต่ถ้ามองให้ลึกซึ้งลงไปแล้ว จะเห็นว่าการปลูกทั้งสองวิธีนี้ เป็นการปลูกพืชแบบธรรมชาติเหมือนกัน โดยเฉพาะเมื่อมองในแง่ ของสรีรวิทยาของพืชและปฏิกิริยาทางชีวเคมีที่ดำเนินในพืชแล้ว จะหาความแตกต่างได้ยากมาก
 เนื่องจากสารอินทรีย์ทั้งหลายเริ่มแรกจะยังไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้ เพราะจะต้องถูกทำให้ย่อยสลายโดยจุลินทรีในดิน จนกลายเป็นสารอาหารในรูปของไอออน  สะสมในดิน ดินจะค่อยๆปลดปล่อยสารอาหารในรูปไอออน  และพืชก็ดูดสารอาหารในรูปของไอออนไปใช้ ซึ่งการแลกเปลี่ยนไอออนระหว่างรากพืชกับสารละลายธาตุอาหาร เพื่อนำไอออนจากธาตุอาหารเข้าสู่พืช เกิดขึ้นเหมือนกัน ทั้งในกรณีของสารละลายของดิน และกรณีสารละลายธาตุอาหารในระบบ Hydroponics

เมื่อพิจารณาทาง สรีรวิทยาแล้ว เนื่องจากสารละลายธาตุอาหารในระบบ Hydroponics เป็นสารละลายที่เราเตรียมขึ้นจากปุ๋ย อนินทรีย์ที่ค่อนข้างบริสุทธิ์ ที่มีส่วนประกอบคล้ายคลึงกับสารละลายธาตุอาหารในดิน (ชนิดที่อุดมสมบูรณ์) และเป็นไปตามความต้องการของพืชมากกว่าที่ได้จากดิน
รากขนอ่อนจะดูดธาตุอาหารและน้ำ ไม่ว่าจะเป็นจากดิน หรือจากสารละลายธาตุอาหารในระบบ Hydroponics เป็นไปในลักษณะเดียวกัน คือพืชจะจับคาร์บอนไดออกไซด์จากอากาศ แล้วทำปฏิกิริยาทางชีวเคมีที่เรียกว่าเมตตาโบลิซึม อย่างเดียวกัน เพื่อนำไปสร้างใบ ดอกและผล
ดังนั้นจึงสรุปได้ว่าการปลูกพืชโดยไม่ใช้ดินเป็นการปลูกพืชแบบธรรมชาติเหมือนการปลูกพืชบนดิน แต่เป็นการปลูกพืชที่ใช้เทคโนโลยี ที่มีการจัดการที่ดีกว่า จึงทำให้เกิดศักยภาพในการผลิตที่ดีกว่า

พืชที่ปลูกโดยไม่ใช้ดินกินสารเคมีหรือไม่ และเป็นพิษหรือไม่

ปกติเมื่อพูดถึงสารเคมี ผู้บริโภคมักจะตกใจ เพราะมองว่าสารเคมีเป็นสิ่งที่ก่อพิษภัย ทั้งๆที่สารทุกชนิดในโลกล้วนเป็นสารเคมีทั้งสิ้น ร่างกายของมนุษย์สัตว์และพืชตลอดจนสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ต่างก็ประกอบด้วยสารเคมีที่มีปฏิกิริยาทางชีวเคมีดำเนินไปอยู่ตลอดเวลา สารเคมีส่วนใหญ่ไม่เป็นพิษและบางชนิดก็เป็นสารที่ขาดไม่ได้ เช่นแร่ธาตุ วิตามิน รวมทั้งสารอาหารต่างๆ  เช่น ถ้าเราเปรียบเทียบวิตามินเสริมเกลือแร่ เทียบกับธาตุอาหารที่เราผสมไปในสารละลายให้แก่พืชในระบบการปลูกพืช Hydroponics แล้วจะเห็นว่าไม่แตกต่างกัน
การรับประทานวิตามินรวมเกลือแร่นั้นเป็นการรับสารเคมีโดยตรง รวมทั้งวิตามินต่างๆ ที่เป็นสารสังเคราะห์ด้วย แต่การรับประทานพืชผัก ที่ปลูกด้วยวิธี Hydroponics นั้นจะได้รับทั้งสารต่างๆ ที่พืชสังเคราะห์ ที่มีแร่ธาตุที่เป็นประโยชน์ ใส่รวมกันอยู่ และบางชนิดของแร่ธาตุหลายชนิดเปลี่ยนแปลงไปเป็นส่วนประกอบของสารอินทรีย์ดังที่กล่าวมาแล้ว  ซึ่งแร่ธาตุเหล่านี้เหมือนกับแร่ธาตุในดิน แต่จะดีกว่าตรงที่ในสารละลายเราสามารถใส่แร่ธาตุชนิดต่างๆตามความต้องการของพืชได้อย่างเหมาะสม
สรุปคือการกินผักที่ปลูกโดยไม่ใช้ดินเป็นการกินผักธรรมชาติที่มีคุณค่าอาหารสูงไม่ใช่เป็นการกินสารเคมีที่เป็นพิษ

พืชที่ปลูกโดยไม่ใช้ดินมีสารอาหารครบถ้วนหรือไม่ 

 จากการที่มีแร่ธาตุครบถ้วนตามความต้องการของพืช รวมทั้งมีการปรับสภาพให้เหมาะสมกับการเจริญเติบโตของพืช ทำให้พืชผักที่ปลูกโดยไม่ใช้ดินโดยเฉพาะระบบ Hydroponics ดีกว่าปลูกบนดินทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพซึ่งเรื่องนี้มีผลการวิจัยรองรับว่าพืชจะมีปริมาตรแร่ธาตุที่เป็นประโยชน์เท่ากับพืชที่ปลูกบนดินหรือสูงกว่าเล็กน้อย แต่จะมีกลิ่นที่มาจากน้ำหอมระเหยและมีรสชาติชวนชิมกว่าพืชที่ปลูกบนดิน

พืชที่ปลูกโดยไม่ใช้ดินมีไนเตรตค้างหรือไม่ 


ธรรมชาติในกระบวนการเจริญเติบโตของพืช (ทั้งที่ปลูกตามธรรมชาติและไม่ใช้ดิน ) ซึ่งเป็นสิ่งมีชีวิตที่เมื่อได้รับไนเตรตเข้าไปแล้วพืชจะไม่สะสมไนเตรตไว้นานเนื่องจากจะเกิดปฏิกิริยาเปลี่ยนแปลงโดยใช้เอนไซม์ต่างๆ ในพืช มาเร่ง ปฏิกิริยาให้เปลี่ยนเป็นแอมโมเนียและกรดอะมิโนต่อไป เนื่องจากกระบวนการเปลี่ยนแปลงนี้จะมีแสงแดดเข้ามาเกี่ยวข้อง กล่าวคือการมีอากาศร้อนและมีแสงแดดจัด หรือความเข้มของ แสงมากและมีชั่วโมงของแสงที่ยาวนานจะทำให้กระบวนการเปลี่ยนแปลงเป็นไปตามปกติหรือทำให้ไม่มีการสะสมของไนเตรตในพืช
ดังนั้นการสะสมไนเตรตในพืชจะเกิดกับพืชที่ปลูกในโรงเรือน ในประเทศที่มีฤดูหนาวที่หนาวจัดจนมีหิมะตกหรือมีแสงแดดน้อย หรือมีท้องฟ้าที่มืดครึ้ม 2 - 3 สัปดาห์ติดต่อกัน และการฉีดแคลเซียมไนโตรเจนก่อนการเก็บเกี่ยว เพื่อเพิ่มความแข็งแรง ความเขียว ของพืช เพื่อยืดอายุหลังการเก็บเกี่ยว


จากที่ได้อธิบายข้างต้นหวังว่าจะมีประโยชน์กับผู้อ่าน ได้เข้าใจถึงระบบการปลูกผัก Hydroponics ว่ามีความปลอดภัย และมีคุณภาพ พอที่จะเป็นอีกทางเลือกที่ดีสำหรับผู้บริโภคที่รักสุขภาพได้บ้างไม่มากก็น้อย


หากมีข้อสงสัยต่างๆ สามารถติดต่อ 081-790-1924  (อาจารย์น้อย) ยินดีให้คำปรึกษาครับ 

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

Evergreen สัญจร 1 ไร่มันสำปะหลังพันธุ์ไจแอ้นท์ อายุ 5 เดือน ที่ อ.เลาขวัญ จ.กาญจนบุรี

การปลูกมัลเบอรี่ง่ายๆ แบบ Evergreen Khaoyai

การตอนกิ่งในช่วงฤดูหนาว กับ Aluminium Foil